'เกาะสี' พื้นที่สัญจรสุดอันตราย...ถึงเวลารัฐต้องแก้ไข


เกาะสี (Painted Medians / Flush Medians) หรือเกาะกลางถนนที่ใช้สีทำเป็นแนวแบ่งครึ่งถนนที่รถวิ่งสวนกันไปมา ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงมีความรุนแรง เช่นกรณีรถตู้ประสานงารถบรรทุก เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 รายที่อุบลราชธานีเมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

ภาพเกาะสีบริเวณที่เกิดเหตุ - ที่มาภาพ พิกัดข่าว ชาวอุบลฯ

สูญเสียมหาศาล

อุบัติเหตุใหญ่แบบนี้เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เมื่อ ส.ค. 2560 ที่ จ.สิงห์บุรี รถเก๋งชนจักรยานยนต์ ก่อนจะเข้าเรียนตอนเช้า เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่แม่ขี่ไปส่งลูก 2 คนและหลาน 1 คนไปโรงเรียน เสียชีวิตพร้อมกันรวม 4 ราย ซึ่งเป็นถนนที่ได้รับการขยายจาก 2 ช่องทางเป็นถนน 4 ช่องทางรถวิ่งสวนกันและเกาะกลางถนนทำเป็นเกาะสี[1]

หรืออย่างกรณีรถตู้ หลวงพ่ออลงกต ชนสนั่นกระบะ เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 2 ราย พบว่าถนนบริเวณจุดเกิดเหตุ เป็นช่วงเขตชุมชนถนนสองช่องจราจรในแต่ละทิศทาง โดยมีการทำเกาะกลางถนนเป็นเกาะสี ซึ่งน่าสนใจว่าสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่รวบรวมโดยศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ (ศปถ.อ.) โคกสำโรง พบว่าช่วงถนนพหลโยธิน ตั้งแต่หลัก กม.171 - 180 ในเขต ต.ห้วยปง (จุดใกล้เคียงบริเวณที่รถหลวงพ่ออลงกตประสบอุบัติเหตุ) ด้วยระยะทางเพียงแค่ 9 กิโลเมตร แต่ในปีที่ผ่านมา (2561) มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 11 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดเหตุในเขตชุมชน ที่มีการขยายไหล่ทาง และเป็นช่วงเกาะสี[2]

กรณีหลวงพ่ออลงกตนี้โครงการประเมินสภาพถนนประเทศไทย (ThaiRAP)[3] ชี้ว่าสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ถนนในช่วงนั้นมีความเสี่ยง มาจากการที่บริเวณนั้นเป็นถนนที่ไม่มีอุปกรณ์แบ่งแยกทิศทางจราจร ทำให้ 1.มีความเสี่ยงที่จะชนประสานงากันสูง และ 2.เปิดโอกาสให้มีการกลับรถหรือเลี้ยวอย่างอิสระทำให้ผู้ที่อยู่ในทิศทางของตนเองต้องเสี่ยงต่อการถูกผู้ใช้ทางอื่นตัดหน้าอย่างกะทันหัน

ThaiRAP ชี้ว่าต้องกั้นแบ่งทิศทางจราจรด้วยแบร์ริเออร์ แบบเหล็ก หรือคอนกรีต เพื่อป้องกันการข้ามฝั่งและการชนประสานงา รวมถึงกำหนดจุดกลับรถที่ชัดเจน จะช่วยให้ความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่สูงขึ้น แต่ถ้าไม่มีมาตรการปรับปรุง หากต้องการถนนที่ปลอดภัยสำหรับทุกกลุ่มผู้ใช้ทาง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการควบคุมความเร็วการขับขี่ให้ไม่เกิน 60 กม./ชม. เท่านั้น

กรณีล่าสุดที่สุพรรณบุรี เกิดเหตุรถเก๋งกลับรถตัดหน้ากระบะกระทันหันบริเวณเกาะสี (คลิป) เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย ในเขตพื้นที่อำเภอสองพี่น้อง



มีการประเมินระดับความเร็วที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ในผู้ใช้ถนนแต่ละประเภทโดยใช้รถยนต์เป็นตัวตั้ง พบได้ใน Towards Zero[4] ของรัฐวิคตอเรียประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมาจากวิสัยทัศน์ Vision Zero ที่เริ่มมาจากประเทศสวีเดน โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนภายในปี 2050[5] โดยโครงการ Towards Zero ได้ระบุถึงระดับความเร็วที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ในการชนแต่ละลักษณะของรถยนต์ ได้แก่

1. ชนประสานงา: 70 กม./ชม. (มีการคาดเข็มขัดนิรภัย)
2. ถูกชนจากด้านข้าง : 50 กม./ชม.
3. ด้านข้างฟาดเข้ากับต้นไม้ 30 กม./ชม.
4. คนเดินเท้า จักรยาน มอเตอร์ไซค์ ถูกรถยนต์ชน: 30 กม./ชม.

นักวิชาการเตือนเรื่อง อันตรายของเกาะสีตั้งแต่ปี 2560 แล้ว

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เคยเขียนบทความเสนอสำนักข่าวอิศรา[6] หลังจากเกิดอุบัติเหตุบริเวณที่มีการแบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะสี ว่าเกาะสีทำให้ถนนมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุรถชนกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะสีที่แบ่งครึ่งกลางถนน 4 เลน (หรือทิศทางละ 2 เลน) แบ่งความเสี่ยงออกเป็น 4 ข้อ ได้แก่



1. ถนนยิ่งกว้าง ยิ่งขับเร็ว: การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็ว โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) พบว่า ยิ่งถนนหลายช่องจราจรคนขับรถจะยิ่งขับเร็ว โดยเฉพาะถนน 4 ช่องทางเกาะสี จะส่งผลต่อมุมมองของคนขับรถว่าถนนโล่ง กว้าง เนื่องจากไม่มีเกาะกลางถนน และยังเอื้อต่อการตัดสินใจแซงได้ง่ายขึ้นเพราะสามารถแซงบนช่องเกาะสีได้อีกช่องทางหนึ่ง

2. ใช้เกาะสีเป็นที่หยุดรอ: ในขณะที่คนขับรถใช้ความเร็วและอาจจะใช้เกาะสีสำหรับการแซง แต่สำหรับคนเดินถนน รถจักรยานยนต์ จักรยาน หรือรถยนต์ จะใช้เกาะสีเป็นที่ “หยุดรอ” เพื่อข้ามไปอีกฟากหนึ่งของถนน และมีโอกาสเกิดการจอดล้ำช่องทางรถวิ่งสวน เนื่องจากขนาดความกว้างของเกาะสี มีความจำกัด โดยปกติจะกว้างประมาณ 1.2-2 เมตร ทำให้รถที่จอดรอเลี้ยว มีโอกาสล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถด้านตรงข้าม ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเฉี่ยวชนได้ง่าย

3. กลับรถได้ทุกจุดบนเกาะสี: ลักษณะเกาะสีที่ไม่มีอุปกรณ์ติดตั้ง จะสามารถกลับรถได้ในทุกจุด เสี่ยงต่อการถูกชนท้ายจากรถที่ขับตามหลัง แตกต่างจากยูเทิร์นทั่วไปที่จะมีช่องทางแยกสำหรับกลับรถ รวมทั้งคนขับรถที่ขับตามหลังจะเพิ่มความระมัดระวังเพราะกำลังจะถึงจุดกลับรถ 

4. ข้ามไปชนแบบปะทะ”: การละสายตา หลับใน หรือ เสียหลักข้ามไปชนฝั่งตรงข้ามได้เลย เหมือนกรณีอุบล 7 ศพ

นอกจากนั้น ศวปถ. ได้ยกตัวอย่างการศึกษาอันตรายจากเกาะสี ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี จากรายงาน การศึกษามูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นบนถนนระหว่างเกาะกลางถนนแบบยกสูงกับเกาะกลางถนนแบบเกาะสี กรณีศึกษา ถนนสายสุรินทร์ปราสาท (สาย 214) ในช่วงที่มีการทำเกาะสี (กม. 6+500 - กม. 11+800) เทียบกับช่วงที่ทำเป็น 'เกาะกลางยกสูง' (กม. 0+500 - กม. 6+150) พบว่าอุบัติเหตุในรอบ 3 ปี เกิดกับช่วงที่เป็นเกาะสีมากกว่าเกาะกลางยกสูง โดยมีการเสียชีวิต 5 ราย พิการ 1 ราย สาหัส 3 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 3 ราย ในขณะที่ถนนช่วงที่เป็นเกาะกลางยกสูงมีการเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุในช่วงที่เป็นเกาะสี 19.5 ล้านบาท และช่วงเกาะกลางยกสูง 2.7 ล้านบาท แสดงให้เห็นเบื้องต้นว่า แม้เกาะสีจะช่วยประหยัดค่าก่อสร้าง แต่ไม่คุ้มค่าถ้านำค่าใช้จ่ายจากผลกระทบของอุบัติเหตุและการเสียชีวิตคำนวณด้วย สอดคล้องกับที่ถนนอุดร-หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เมื่อแก้ไขจากเกาะสีเป็นเกาะกลางแบบต่าง ๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุดรธานีระบุว่าจำนวนอุบัติเหตุลดลงไปอย่างชัดเจน

และมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 (ระหว่างเมืองสงขลากับเมืองหาดใหญ่) ระยะทาง 26 กม.[7] โดยใช้สถิติจากรายงานอุบัติเหตุของกรมทางหลวง พบว่าสัดส่วนของอุบัติเหตุในปี 2553-2556 ต่อกิโลเมตร ตามลักษณะของเกาะแต่ละแบบ ได้แก่ ช่วงที่เป็นเกาะกลางแบบเกาะยก 28.49% จากอุบัติเหตุทั้งหมด, ช่วงที่เป็นเกาะสี 55.16% (ที่เหลือคือ ช่วงที่ปรับปรุงเกาะกลาง ซึ่งพบปัญหาทางวิศวกรรมจากการมีจำนวนจุดกลับรถมากเกินไป)

เดือนสิงหาคม 2560 ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ทำหนังสือไปยัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น[8] ถึงข้อเสนอเพื่อพิจารณา ลดความสูญเสีย กรณีถนน 4 ช่องทางเกาะสีโดยมองว่า แม้อุบัติเหตุจะมีปัจจัยจาก คนขับเป็นสาเหตุหลัก แต่ปัจจัยจากตัวถนนที่ทำให้รถยนต์สามารถวิ่งด้วยความเร็ว หยุดกลับรถได้ตลอด หรือสามารถใช้เกาะสีสำหรับแซง กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของอุบัติเหตุ ซึ่งการส่งหนังสือดังกล่าวนี้ได้แนบรายงานทางวิศวกรรม การศึกษามูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นบนถนนระหว่างเกาะกลางถนนแบบยกสูงกับเกาะกลางถนนแบบเกาะสี กรณีศึกษา ถนนสายสุรินทร์ปราสาทที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นด้วย

กรณีศึกษาต่างประเทศยืนยัน เกาะกลางลดอุบัติเหตุจริง

ในต่างประเทศพบรายงานการสร้างเกาะกลางถนนหลายแห่งของรัฐยูทาห์[9] ในสหรัฐ พบว่าทำให้อุบัติเหตุลดลง 25% โดยอุบัติเหตุรุนแรงลดลง 36%, รัฐฟลอริดา[10] มีรายงานว่าเกาะกลางถนนที่สร้างขึ้นแทนที่เกาะสีที่เอาไว้ให้รถเลี้ยวแบบมุมฉากที่ตัดผ่านเส้นทางที่รถวิ่งสวนกัน (TWLT) พบว่าเกาะกลางถนนทำให้อุบัติเหตุลดลง 28.5%, ในรัฐเท็กซัส[11] มีรายงานว่าเกาะกลางถนนทำให้อุบัติเหตุบริเวณ TWLT ลดลง 37.5% และบริเวณทางตรงลดลง 36%

ภาพลักษณะถนนบริเวณ TWLT

โดยรายงานขององค์การบริหารทางหลวงสหรัฐอเมริกา (FHWA)[12] ที่ศึกษาจากงานวิจัยที่ผ่าน ๆ มา  พบว่าเกาะกลางถนนสามารถลดอุบัติเหตุรถชนกันได้ 15% นอกจากนั้น รายงานนี้ยังพบว่าเกาะกลางถนนส่งผลให้อุบัติเหตุรถชนคนเดินข้ามถนนที่มีทางม้าลายและมีที่ยืนรอตรงเกาะกลาง ลดลง 46% และเกาะกลางถนนยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับติดตั้งป้ายจราจรและแสงไฟเพิ่มเติมด้วย ซึ่งก็พบด้วยว่าการปรับปรุงแสงสว่างตรงทางคนข้ามถนนลดการเสียชีวิตจากเหตุรถชนคนได้ถึง 78%

ภาคประชาชน คือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

ปทุมธานี : พลังของ Social Media



จากความสูญเสียเพราะเกาะสี  ภาคประชาชนในหลายพื้นที่จึงลุกขึ้นมาเรียกร้องการแก้ไขจากภาครัฐ เดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้เขียนแคมเปญรณรงค์ใน change.org[13] ระบุว่า "ถนนไสวประชาราษฎร์เป็นถนน 4 เลน ปัจจุบันเป็นเกาะสี มีสถิติเป็นถนนที่อันตรายมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของปทุมธานี ถ้าเปลี่ยนจากเกาะสีเป็นเกาะยก มีจุดกลับรถเป็นระยะ จะสามารถลดและป้องกันอุบัติเหตุลงได้"

ปลายเดือนกรกฎาคม แขวงทางหลวงชนบทปทุมธานีประกาศสร้างเกาะกลางถนนไสวประชาราษฎร์ ตลอดแนว[14] ซึ่งคร่อม อ.ธัญบุรี - อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จากเกาะสีเดิม เป็นเกาะยกตลอดเส้นทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจราจร และอำนวยความสะดวกความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สงขลา : ข้อมูลคืออำนาจ

เมื่อ 31 พ.ค. 2562 ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน เทศบาลเมืองเขารูปช้าง ซึ่งมีหน้าที่ดําเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน โดยกําหนดภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนํามาตรฐานการป้องกันอุบัติภัยทางถนนของกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มาใช้ในการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ได้ส่งจดหมายถึง ผู้อํานวยการแขวงทางหลวงสงขลาที่ 1[15]

โดยมีใจความว่า ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน เทศบาลเมืองเขารูปช้าง ได้จัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือน ก.พ.เม.ย. 2562 บนทางหลวงแผ่นดินสายสงขลา-นาทวี ซึ่งเป็นถนน 4 ช่องจราจร รถสามารถวิ่งสวนกันได้ แต่ยังไม่มีเกาะกลางถนน  โดยใช้เขตปลอดภัยเป็นเครื่องหมายจราจรในการแบ่งช่องเดินรถ กว้าง 1.8 เมตร พบว่ามีอุบัติเหตุรุนแรงจํานวน 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย บาดเจ็บสาหัส 3 ราย และจากการเก็บสถิติอุบัติเหตุทางถนนบริเวณดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2559 - 17 เม.ย. 2562 เกิดอุบัติเหตุ 50 ครั้ง และมีเหตุที่น่าสนใจคือ กรณีการขับรถตัดหน้าในทางตรงอย่างกระชั้นชิดจํานวน 16 ครั้ง คิดเป็น 26.22% ของการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าว โดยศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเทศบาลเมืองเขารูปช้างได้แจ้งข้อมูลอุบัติเหตุให้แขวงทางหลวงสงขลาที่ 1 เพื่อทราบ และขออนุเคราะห์ในการทําเกาะกลางถนนเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 และได้แจ้งการดําเนินการไปยังศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอําเภอเมืองสงขลาและศูนย์ อํานวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสงขลาเพื่อทราบ



การดําเนินการในระยะต้นได้ประชาสัมพันธ์ โดยใช้แผ่นประกาศแจ้งเตือนอันตรายจากอุบัติเหตุ สาเหตุ และวิธีการใช้รถใช้ถนนที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบ และการดําเนินการในระยะกลางได้ขอความร่วมมือประชาชนที่อาศัยอยู่ริมถนนสายสงขลานาทวีช่วงตั้งแต่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ถึงวัดแช่มอุทิศ ได้ร่วมแสดงเจตจํานง เพื่อขอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้กําหนดมาตรการด้านความปลอดภัย



โดยจดหมายนี้มีการแนบบัญชีรายชื่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณถนนสงขลานาทวี ช่วงตั้งแต่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ถึงวัดแช่มอุทิศ จํานวนทั้งหมด 372 ครัวเรือน โดยมีประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนครอบครัวร่วมลงชื่อ 372 ครัวเรือน คิดเป็น 100% โดยมีความประสงค์เพื่อขออนุเคราะห์ให้กําหนดมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนพร้อมผลักดันให้เกิดนโยบายในการจัดทําเกาะกลางถนนในช่วงบริเวณดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ต่อมาเมื่อ 9 ก.ย. 2562 เทศบาลเมืองเขารูปช้าง ได้ออกประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างทําป้ายไวนิลเพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสภาพจราจรข้างหน้าที่ไม่มีเกาะกลางถนน[16] โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จํานวน 3 รายการ จํานวน 1 โครงการ

คําแนะนําการใช้เกาะสี โดยกรมทางหลวง 






จะเห็นได้ว่า 'เกาะสี' เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุรุนแรง แม้จะเป็นความผิดพลาดของผู้ขับขี่ด้วย แต่เรื่องทางวิศวกรรมก็เป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เกิดความผิดพลาด ดังที่ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนไว้และสถิติที่ปรากฏ สถิติทั้งไทยและต่างประเทศสอดคล้องกันว่า ถนน 4 เลนนั้นต้องเปลี่ยนจากเกาะสีเป็นเกาะกลาง

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยของประชาชนจะเดินหน้าเปลี่ยนเกาะสีเป็นเกาะกลาง 



รายงานพิเศษชิ้นนี้ผลิตโดย LIMIT 4 LIFE ภายใต้โครงการ Champions for Change to Achieve Safer Road Use in Thailand ดำเนินงานโดย Internews ภายใต้การสนับสนุนของ Global Road Safety Partnership (GRSP) มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการผลักดันนโยบายการลดอัตราการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนโดยพลังของสื่อมวลชน

อนึ่ง LIMIT 4 LIFE เป็นช่องทางสื่อของ 'โครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย' ที่นำเสนอเรื่องราวด้านคมนาคม ทั้งประเด็นความปลอดภัยบนท้องถนน การเข้าถึงขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้เกิดการ ใช้ชีวิตอย่างจำกัดเพื่อการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัยอย่างถ้วนหน้าในสังคม ด้วยสโลแกน "เพื่อการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย" (FOR THE ACCESS OF FAIR AND SAFE TRANSPORTATION) เข้าชมเว็บไซต์และเฟสบุ๊คได้ที่ limit4life.org | facebook.com/LIMIT.4.LIFE  



อ้างอิง
[15] ที่ สข ๕๔๓๐๑/๒๓๑๑, เทศบาลเมืองเขารูปช้าง ถนนกาญจนวนิช ตําบลเขารูปช้าง อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา ๙๐๐๐๐, ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒, เรื่อง การดําเนินการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน, เรียน ผู้อํานวยการแขวงทางหลวงสงขลาที่ ๑