ความปลอดภัยทางถนน: ขยับสู่การมองเชิงระบบ


(ประชาไท) - ในอดีต กระแสหลักของการทำเรื่องความปลอดภัยทางถนน คือ road user approach หรือการมองที่มุ่งไปที่ตัวผู้ใช้รถใช้ถนน แล้วเราจะมองเรื่องของบุคคลให้มาเป็นตัวระบบอย่างไร ดังที่ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า safe system approach คือทำระบบให้ปลอดภัย โดยเชื่อว่า เมื่อระบบปลอดภัยแล้ว พฤติกรรมของคนจะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่เขาจะไม่บาดเจ็บรุนแรง


ที่มาภาพต้นฉบับ: Rolling guardrail in Korea - Courtesy of highways.today - BikesRepublic


safe system approach ไม่ได้มีเป้าหมายที่การลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ แต่คือการลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บรุนแรง การที่เน้นจุดนี้ เกิดจากการวิเคราะห์หลายอย่างว่าการลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์นั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว มนุษย์ย่อมมีความบกพร่อง ต่อให้ขับรถระมัดระวังแค่ไหน อุบัติเหตุก็อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าเช่นนั้นจะสร้างระบบอย่างไร ที่แม้จะเกิดอุบัติเหตุ แต่คนจะไม่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บรุนแรง

เคยได้ยินเรื่องของคนขับรถหลับในตกถนนไหม ซึ่งปรากฏว่าไม่ตาย เพราะริมถนนปลูกต้นกล้วย ช่วยซับแรงกระแทก วิธีคิดของ safe system approach คือมองว่าร่ายกายมนุษย์ทนทานแรงกระทบทางกายภาพได้จำกัด ต้องพยายามควบคุมไม่ให้ได้รับแรงกระแทกมากเกินไป เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ต้องสร้างสิ่งที่รองรับความผิดพลาดของมนุษย์ให้ได้ เรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานต้อง "ให้อภัย" (forgiving) พอสมควร ในแง่ที่ยอมรับว่า มนุษย์เกิดความผิดพลาดได้ และระบบเหล่านี้จะช่วยรองรับป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียมากเกินไป นี่เป็นวิธีคิดที่แตกต่างไปจากการมองแบบรณรงค์ไปที่ตัวคนขับคนเดียว หรือไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนขับ

หากใช้มุมมองเชิงระบบ (system approach) เราจะมองเรื่องความปลอดภัยทางถนนอย่างไร?

ในส่วนของการรณรงค์ ปัจจุบันเรารณรงค์บนฐานที่คิดว่า คนไม่มีความรู้หรือขาดจิตสำนึก ต้องมีสปิริต มีวินัย แต่เชื่อไหมว่า พวกเราแต่ละคนเมื่ออยู่ในระบบที่ต่างออกไปก็จะมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องที่ว่า หมอคนเดียวกัน ทำไมพอไปตรวจในโรงพยาบาลเอกชนแล้วจึงพูดเพราะ ทำไมพอตรวจที่โรงพยาบาลรัฐกลับดุมาก ครูคนเดียวกันสอนหนังสือในโรงเรียนกวดวิชากับสอนในโรงเรียนก็สอนไม่เหมือนกัน ใส่ใจเด็กไม่เท่ากัน หรืออย่างตัวเราเอง คนไทยที่บอกกันว่าไม่มีวินัยนั้น หากไปอยู่สิงคโปร์ก็จะเป็นคนมีวินัยขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้น พฤติกรรมส่วนบุคคลเหล่านี้มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องจิตสำนึกหรือการไม่มีความรู้ แต่มันเป็นปัญหาของการเซ็ตระบบ ระบบที่มีกาลเทศะ มีกฎเกณฑ์ มีเงื่อนไขที่ทำให้คนต้องปฏิบัติตาม หรือแม้แต่คนที่ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่เสียชีวิต

เนื้อหาบางส่วนจาก: โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์: ถนนไทยปลอดภัยได้เริ่มที่ดูปัญหาเป็นระบบ ปรับวัฒนธรรมสังคม - ประชาไท