ความตายทางถนน: อุบัติเหตุ หรือ ฆ่าตัวตาย ?


ที่มาภาพต้นฉบับ: Car crash, Karrinyup Road Stirling | perthhdproductions


ในรายงานของสภาความปลอดภัยทางถนนแห่งสหภาพยุโรป (ETSC) ว่าด้วยการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ไม่มีคู่กรณี (Reducing deaths in single vehicle collisions) ในส่วนที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลมีการระบุถึงการเสียชีวิตทางถนนที่เป็นการฆ่าตัวตาย ชี้ว่าควรจำแนกการตายเพราะอุบัติเหตุทางถนนกับการฆ่าตัวตายโดยใช้อุบัติเหตุทางถนนเป็นเครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม ประเทศฟินแลนด์ไม่มีการแยกสถิติ นับเป็นอุบัติเหตุทางถนนอย่างเดียว โดยชี้ว่าเพราะไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยก็มีตัวอย่างของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่สามารถแยก เหยื่อของผู้ที่จงใจขับรถชนรถอีกคันเพื่อให้ตัวเองตาย ว่าเป็นการตายทางถนน ส่วนผู้ฆ่าตัวตายก็แยกไว้ในสถิติฆ่าตัวตาย

นอกจากการฆ่าตัวตายโดยใช้อุบัติเหตุดังกล่าวเป็นเครื่องมือ ที่ส่วนใหญ่เป็นแบบไม่มีคู่กรณี อีกรูปแบบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เช่นกันคือ การขับรถพุ่งชนด้านหน้าของรถอีกคัน (ชนประสานงา) โดยมักเป็นการชนกับรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ 

ในเรื่องสัดส่วนการฆ่าตัวตายดังกล่าวต่อการตายทางถนนทั้งหมดรายงานนี้ได้อ้างอิงการศึกษาของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุที่มหาวิทยาลัยโมแนชประเทศออสเตรเลียว่า 1-7% ของการตายทางถนนเป็นการฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ดี การแยกแยะข้อมูลก็ยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

หน่วยงานบริหารการขนส่งสวีเดน ชี้ว่าการแยกข้อมูลการฆ่าตัวตายในบรรดาอุบัติเหตุทางถนน เป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ก็ยังเป็นหัวข้อที่ไม่ปกตินักในประเด็นความปลอดภัยทางถนน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ค่อยมีใครอยากยุ่งกับประเด็นนี้ ราวกับเป็นเรื่องต้องห้าม

แม้ว่าสถิติการฆ่าตัวตายของชาวสวีเดนในปี 2016 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4 คนกว่า ๆ ต่อวันก็ตาม ซึ่งการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้ชายสวีเดนที่อายุระหว่าง 15-44 ปี และอันดับสองของผู้หญิงในกลุ่มอายุเดียวกันรองจากโรคมะเร็ง นอกจากนั้น การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนรุ่นใหม่ในสวีเดนที่อายุระหว่าง 15-24 ปี

ทั้งนี้ นับจากปี 2010 สวีเดนเริ่มแยกตัวเลขการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายโดยใช้อุบัติเหตุทางถนนเป็นเครื่องมือ ออกจากการตายเพราะอุบัติเหตุ และได้พัฒนาวิธีการจำแนกแยกแยะ (classification) มาเรื่อย ๆ

หน่วยงานบริหารการขนส่งสวีเดนยังระบุอีกว่า ข้อมูลทั่วไปของผู้ขับขี่อย่าง อายุ เพศ แอลกอฮอล์ ยังไม่เพียงพอ ควรจะมีข้อมูลเกี่ยวกับ จิตสังคม ของผู้ประสบเหตุด้วย เพื่อลดตัวเลขของสาเหตุการเสียชีวิตทางถนนที่ ไม่ชัดเจน

โดยข้อมูลทางจิตสังคม ได้แก่ มีข้อความอำลาหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูดหรือการเขียนที่เป็นการสื่อสารอย่างตั้งใจ, เคยมีความพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนหรือไม่, มีการสื่อสารที่ส่อถึงการฆ่าตัวตายแบบอ้อม ๆ หรือไม่, มีท่าทางซึมเศร้าหรือมีปัญหาสุขภาพจิตมานานหรือไม่, ประสบเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรงหรือมีความเครียดอย่างหนักมาก่อนหรือไม่ นอกจากนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสังคมของผู้เสียชีวิตก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา ได้แก่ สถานภาพการแต่งงานหรือสถานการณ์ในครอบครัว, ระดับการศึกษา, สถานการณ์ด้านอาชีพการงาน, ที่อยู่อาศัย, การพึ่งพาสุรา สารเสพติดหรือยา, ปัญหาสุขภาพ

ในสวีเดนเป็นการทำงานร่วมกันของ นักนิติเวชศาสตร์ นักจิตวิทยาหรือนักพฤติกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งพบว่าการเสียชีวิตทางถนนของชาวสวีเดนในปี 2012–2016 เป็นการฆ่าตัวตาย 10% หากนำสัดส่วนนี้มาตั้งสมมติฐานกับเมืองไทยที่เสียชีวิตทางถนนปีละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นราย ไทยก็อาจมีคนฆ่าตัวตายโดยใช้อุบัติเหตุทางถนนเป็นเครื่องมือมากพอสมควร


โดย ฐานันดร ชมภูศรี