ญี่ปุ่นลดความตายทางถนน ด้วย 'สถิติละเอียดยิบ'


การแก้ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน หากมีโมเดลที่ไทยน่าจะเจริญรอยตาม มีตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องการเก็บสถิติของประเทศญี่ปุ่น ยิ่งสมัยนี้เราพูดเรื่อง big data กันมาก และญี่ปุ่นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำที่สุดมาแล้ว 2 ปีติดต่อกันตั้งแต่ญี่ปุ่นบันทึกข้อมูล ซึ่งมีการเก็บข้อมูล อุบัติเหตุ-บาดเจ็บ-เสียชีวิต ทางถนนอย่างละเอียดยิบ พร้อม ๆ กับการพัฒนาระบบคมนาคมที่ดีระดับหัวแถวของโลก

ตามรายงานของ World Economic Forum เรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว Travel and Tourism Competitiveness ปี 2017 ให้ประเทศญี่ปุ่นอยู่อันดับ 10 ที่ดีที่สุดในโลก อันเป็นหนึ่งในประเทศที่ยอดเยี่ยมด้านคุณภาพของระบบรถไฟและระบบขนส่งทางบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟในกรุงโตเกียว

การที่ประเทศไทยกำลังพูดเรื่องขนส่งสาธารณะกันมาก แน่นอนว่าหากวันไหนผู้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลงอย่างชัดเจน ก็เป็นไปได้สูงว่าการบาดเจ็บล้มตายบนท้องถนนก็จะลดลงไปด้วย อย่างไรก็ดี LIMIT 4 LIFE เคยเขียนถึงสหภาพยุโรปซึ่งเป็นภูมิภาคที่ตายทางถนนน้อยที่สุดในโลก และมีขนส่งสาธารณะที่อย่างน้อยก็ดีกว่าสหรัฐอเมริกา ก็ยังคงมีความพยายามลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้น้อยลงต่อไปโดยใช้วิธีการต่างหากที่นอกเหนือจากการส่งเสริมขนส่งสาธารณะ รวมถึงกรณีสิงคโปร์ที่นอกจากเพิ่มความปลอดภัยยังเพิ่มความสวยงามให้แก่พื้นที่อีกด้วย

เมื่อเราจดจ่อกับการสร้างขนส่งสาธารณะให้มากขึ้นก็อาจทำให้เราลืมเรื่องการบาดเจ็บล้มตายทางถนนไปบ้าง ซึ่งภูมิภาคและประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา ใช้องค์ความรู้ต่างหากที่นอกจากขนส่งสาธารณะ และเนื่องด้วยบริบทที่ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากติด 1 ใน 10 ของโลก ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างญี่ปุ่นซึ่งตายทางถนนน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศสองปีติดต่อกัน ซึ่งหนึ่งในความน่าสนใจคือเรื่องการเก็บสถิติอย่างละเอียดของญี่ปุ่น ก็จะเข้ากับบริบทที่ไทยเราพูดเรื่อง big data กันมากด้วย

เมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (National Police Agency) ในหน้าสถิติอุบัติเหตุทางถนน ก็จะเจอลิ้งค์สถิติเป็นรายเดือนตั้งแต่ ต.ค. 2015 จนถึงล่าสุดคือเดือน ก.พ. 2019 พอคลิกชื่อเดือน ก็จะไปโผล่ที่เว็บไซต์สถิติทางการของประเทศญี่ปุ่น ก็จะพบหัวข้อต่าง ๆ ของสถิติอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งก็มีตั้งแต่ข้อมูลที่เมืองไทยมีแล้ว อย่างสถิติ อุบัติเหตุ-เจ็บ-ตาย ของเดือนเดียวกันเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า, การแบ่งช่วงอายุผู้เสียชีวิต, เสียชีวิตทางตรงหรือทางแยกหรือทางโค้งเท่าไหร่บ้าง, ประเภทถนน เป็นต้น

สิ่งที่ไทยยังไม่มีคือ ญี่ปุ่นแบ่งระดับการบาดเจ็บเป็น บาดเจ็บระดับหนึ่ง (slight injury) ที่ใช้เวลารักษาไม่เกิน 1 เดือน, และบาดเจ็บสาหัส (serious injury) คือที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 1 เดือน

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นแบ่งผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ออกเป็น 5 ช่วงอายุ (ผู้สูงอายุญี่ปุ่นที่ใช้รถใช้ถนน เสียชีวิตจากการเดินเท้ามากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญ) และการจำแนกข้อมูลดังที่กล่าวมาก็มีการแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงระยะยาวตั้งแต่ ม.ค. 2009 จนถึงที่มีการจัดทำข้อมูลชิ้นล่าสุดคือเดือน ม.ค. 2019 (เปรียบเทียบเดือนต่อเดือน) ทั้งนี้ ในการแบ่งช่วงอายุของคนเดินเท้า ผู้สูงอายุเสียชีวิตมากกว่าช่วงวัยอื่นอย่างชัดเจน

ยังมีการแบ่งช่วงเวลาการเสียชีวิต โดยไม่ได้แบ่งเวลาตามนาฬิกา แต่แบ่งเป็นช่วงระหว่างขึ้น-ลงของดวงอาทิตย์ และกลางวัน-กลางคืน (1), และกลางวันกับกลางคืนช่วงอายุไหนตายเท่าไหร่ นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังแบ่งลักษณะการประสบอุบัติเหตุที่ถึงแก่ชีวิตได้ 24 แบบ โดยไม่นับจักรยาน และช่วงอายุไหนเสียชีวิตอย่างไรมากกว่า โดยแบ่งช่วงอายุเป็น 15 ช่วง แถมมีแยกเอกสารต่างหากว่าชนกับอะไร

การจำแนกสถิติหรือสมัยนี้นิยมเรียกว่า data อย่างละเอียดยิบของญี่ปุ่น เพื่อให้ได้รับคำชื่นชมก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ ๆ มันช่วยให้เห็นแบบแผนของการเสียชีวิตทางถนนชัดเจนขึ้น ทำให้คิดวิธีแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ดังเห็นได้จากการตายน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นติดต่อกัน 2 ปี


โดย ฐานันดร ชมภูศรี