จิตวิทยาของ 'อุบัติเหตุทางถนน'

ที่มาภาพ: VW bus VW bully | Pixabay


นักวิจัยจาก Imperial College London และจากมหาวิทยาลัย Cambridge เคยทำการสแกนสมองคน 29 คน[1] เพื่อดูการตอบสนองของระบบการให้รางวัล (reward systems) ภายในสมองของพวกเขา โดยงานวิจัยนี้ถูกนำเสนอในการประชุมปี 2014 ที่วิทยาลัยเภสัชวิทยาด้านจิตประสาทของสหภาพยุโรป (European College of Neuropsychopharmacology) ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

โดยได้สแกนสมองของผู้กำลังเสพติดการพนัน 14 คน และสมองของอาสาสมัครผู้ไม่มีปัญหานี้ 15 คน ซึ่งให้ผู้ถูกสแกนสมองกินยาบ้า (amphetamine) คนละหนึ่งเม็ด

ดร.อินจ์ มิค (Inge Mick) หัวหน้าคณะผู้วิจัยจาก Imperial College London อธิบายว่าทีมวิจัยพบ 2 สิ่ง คือ

1. สมองของผู้เสพติดการพนันตอบสนองต่อยาบ้า แตกต่าง จากสมองของผู้ไม่มีปัญหาเรื่องการพนัน
2. ดูเหมือนว่าผู้เสพติดการพนันไม่เกิดความรู้สึกมีความสุขแบบ euphoria หรือ “high” ดังที่ผู้ไม่มีปัญหาเกิดความสุขชนิดนี้

สำหรับ euphoria มาจากภาษากรีก: εὐφορία (eupherō) ปัจจุบันถูกระบุว่าเป็นความรู้สึกพึงพอใจ หรือตื่นเต้น และการมีความสุขอย่างมาก รวมถึงความสุขจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิก การหัวเราะ ฟังเพลง เล่นดนตรี เต้น รวมถึงอารมณ์รักโรแมนติก และการมีเพศสัมพันธ์แบบยินยอมพร้อมใจ รวมถึงการเสพยาบ้า เป็นต้น

นี่อาจนำไปสู่คำอธิบายว่าทำไมการเล่นพนันถึงทำให้เสพติดได้ ดร.อินจ์ มิค กล่าว เพราะผู้เสพติดพนันจำเป็นต้องเล่นจนกว่าจะชนะพนันอันจะทำให้เกิดความรู้สึกแบบ euphoria”

แต่ฝรั่งก็มีสำนวนอยู่ว่า "The Houses Always Win" หรือบ่อนพนันชนะเสมอ

แล้วเกี่ยวอะไรกับอุบัติเหตุทางถนน ?

มีการศึกษาโดยตรงเกี่ยวกับการเสพติดพนันและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน[2] จากผู้ใหญ่ 30,652 คน ในจำนวนนี้มี 1% ที่ยอมรับว่าตนเองมีความเสี่ยงสูงที่จะเสพติดพนัน มีการติดตามผลทั้งสามหมื่นกว่าคนเป็นเวลา 6.8 ปี ซึ่งมี 708 คนหรือประมาณ 2% ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเกิดอุบัติเหตุ 821 ครั้ง คือมีบางคนประสบอุบัติเหตุมากกว่าหนึ่งครั้ง

ซึ่งงานวิจัยคำนวณออกมาเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางถนนแล้วได้รับบาดเจ็บ (แล้วผู้เขียนคำนวณต่อให้เป็นเปอร์เซ็นต์) พบว่า ผู้ที่ยอมรับว่าตนเองมีความเสี่ยงสูงที่จะเสพติดพนัน มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุดังกล่าวมากกว่าคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการพนันถึง 78%

ไม่ได้กำลังชนะพนัน เลยยังไม่ euphoria เลยขับขี่เสี่ยงขึ้น (?)

ในงานวิจัยที่พูดถึงการพนัน (ความเสี่ยงสูง เพราะยังไงบ่อนก็ชนะ) และพฤติกรรมเผชิญความเสี่ยง Gambling and Risk Behaviour: A Literature Review (2009)[3] ได้จัดให้บางพฤติกรรมที่เป็นการเผชิญความเสี่ยง ได้แก่ การขับขี่รถในลักษณะอันตราย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การทุจริตเกี่ยวกับการเรียน และการเสพติดพนัน ไว้ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าเป็นลักษณะของการขาดการควบคุมตนเองเพื่อจะทำให้ได้มาซึ่งความรู้สึกพึงพอใจอย่างมาก 

และอีกหลายงานวิจัย[4] จัดพฤติกรรมเสี่ยงข้างต้นไว้ในกลุ่มเดียวกับการใช้สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และพฤติกรรมต่อต้านหรือผิดบรรทัดฐานตามบริบทต่าง ๆ ในสังคม (antisocial) และยังพบด้วยว่าทั้งผู้เล่นพนันที่เสพติดและไม่เสพติด ต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงๆ (เพื่อ euphoria?) ซึ่งพบทั้งในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ 

นอกจากนั้น

ความโสด ของคนญี่ปุ่น สัมพันธ์กับ การเพิ่มขึ้นของคนเสพติดพนัน

ผลสำรวจของสถาบันประชากรและการวิจัยความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติญี่ปุ่นเมื่อปี 2015[5] จากผู้มีอายุระหว่าง 18-34 ปี พบว่าเกือบ 70% ของผู้ชาย และ 60% ของผู้หญิง ไม่มีความสัมพันธ์ในรูปแบบใด ๆ เลย ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวนนี้ 42% ของผู้ชาย และ 44.2% ของผู้หญิงกลุ่มนี้ยอมรับว่าตนเองยังไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ซึ่ง เพิ่มขึ้นจากผลการศึกษาเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น โดยตอนนั้นสัดส่วนของผู้ชายที่ยังบริสุทธิ์อยู่ที่ 36.2% และผู้หญิงอยู่ที่ 38.7%

สมองอาจไม่แยกแยะระหว่างอารมณ์ โรแมนติกและความสุขเมื่อ ชนะพนัน

ผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2017[6] ระบุว่า คนญี่ปุ่นประมาณ 3.2 ล้านคน กำลังประสบปัญหาเสพติดการพนัน นับตั้งแต่ญี่ปุ่นออกกฎหมายรับรองบ่อนคาสิโนเมื่อ ธ.ค. 2016 โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ซึ่งปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นเคยสำรวจแล้วคาดการณ์ว่ามีผู้เข้าข่ายเสพติดพนันเพียง 7 แสนคนเท่านั้น

แม้ว่าจะสามารถใช้คำตอบที่เป็นไปตามเกณฑ์ของการสำรวจจากผู้คนเพียง 4,685 คน แต่ก็เป็นการคัดกรองคำตอบที่รัดกุมจากการสำรวจทั้งหมด 1 หมื่นคน จากผู้มีอายุระหว่าง 20-74 ปี จาก 300 สถานที่ ด้วยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม (randomly) ด้วยวิธีสัมภาษณ์ปากต่อปาก พบ 3.6% ของประชาชนที่ถูกสำรวจมีลักษณะเข้าข่ายเสพติดการพนัน ซึ่งมี ปาจิงโกะเป็นการพนันที่ผู้คนจ่ายเงินไปกับมันมากที่สุด เฉพาะปาจิงโกะก็ทำให้ผู้เข้าข่ายการเสพติดนี้เสียเงินไปกับมันถึง 58,000 เยนต่อเดือน (ประมาณ 16,873.6 บาท)




โดย ฐานันดร ชมภูศรี