ความปลอดภัยทางถนน มากกว่าการพูดถึงขนส่งสาธารณะ


แน่นอนว่าไม่มีที่ไหนในโลกชูนโยบายความปลอดภัยทางถนนมาหาเสียงก่อนเลือกตั้ง อย่างมากก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายใหญ่ ๆ อย่างการสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่คุณภาพดี ราคาถูก และทั่วถึง


ที่มาภาพ: CyberText Consulting


ประเทศในทวีปยุโรปที่ผู้คนใช้รถยนต์น้อยกว่าสหรัฐอเมริกา เพราะรัฐบาลอุดหนุนให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะ[1] 

แต่พอมาถึงเรื่องความปลอดภัยทางถนน อย่างเช่นคนขี่มอเตอร์ไซค์ ผู้จัดทำนโยบายในยุโรปก็ไม่ได้บอกว่าให้หาวิธีจูงใจคนใช้มอเตอร์ไซค์ให้ไปใช้รถไฟฟ้า รถเมล์ ฯลฯ เพราะจะจูงใจยังไงก็มีคนใช้มอเตอร์ไซค์อยู่ดี (ปี 2016 ชาวยุโรปเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คิดเป็น 11% ของการเสียชีวิตทางถนน) แม้อัตราส่วนการตายทางถนนของชาวยุโรปจะต่ำที่สุดในโลก ก็ไม่ละเลยที่จะตั้งเป้าหมายทีละห้าปีสิบปี ว่าจะลดให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ และแม้โลกจะก้าวหน้าไปแค่ไหน การบังคับใช้กฎหมายก็ยังสำคัญ

สถานการณ์การเสียชีวิตบนท้องถนนในยุโรป

อัตราการเสียชีวิตในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อประชากร 100,000 คน ที่แบ่งโดยองค์การอนามัยโลก ปี 2013 และ 2016 จะเห็นว่าทวีปยุโรปซึ่งมี 50 ประเทศ เสียชีวิตน้อยที่สุด (ไทย 2013=36.2, 2016=32.7)

ที่มาภาพต้นฉบับ: WHO - GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 (SUMMARY)


ในรายงาน 2017 road safety statistics: What is behind the figures? (2018)[2] แม้ถนนในสหภาพยุโรปปลอดภัยที่สุดในโลก ก็ไม่ใช่ว่ามาถึงก็ตายน้อยเลย ตามเส้นสีเขียวในภาพซึ่งแสดงจำนวนผู้เสียชีวิต


การศึกษาการเสียชีวิตทางถนนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรืออียู ซึ่งมี 28 ประเทศ นับเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดในโลก อยู่ที่ 4.9 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2017 (ไทย ปี 2016 ตาย 32.7) แต่สัดส่วนที่น้อยที่สุดในโลก เมื่อดูเป็นตัวเลขเฉย ๆ ก็สูงถึง 25,300 ศพในปี 2017 เพียงปีเดียว ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่อียูตั้งไว้

นอกจากนี้อียูยังระบุถึงข้อมูลที่เมืองไทยไม่ได้จำแนกไว้ (ของไทยมีใกล้เคียงอย่างเรื่อง ผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน) โดยอียูได้จำแนก การบาดเจ็บสาหัสระดับที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ซึ่งระบุว่า สูงกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นต้นทุนราคาแพงต่อสังคม ทั้งการพักฟื้นและบริการสุขภาพ

ทั้งนี้เอกสารของอียูระบุว่าความพยายามที่เคยต่างกันของเหล่าประเทศสมาชิกได้ใกล้เคียงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังเคยประสบอัตราการเสียชีวิตที่แตกต่างกันในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1990 โดยตั้งแต่ปี 2000 อัตราการตายระหว่างประเทศสมาชิกเริ่มไม่ห่างกัน ซึ่งปี 2017 มีเพียง 2 ประเทศ (โรมาเนีย 9.8, บัลแกเรีย 9.6) ที่อัตราการตายทางถนนเกิน 8 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน ดีขึ้นจากปี 2010 ที่สูงกว่าอัตรานี้ 7 ประเทศ

โดยอียูมีสภาความปลอดภัยทางถนน (ETSC)[3] ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระในกรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียม เมืองเดียวกับที่ตั้งของสำนักงานใหญ่อียู ซึ่ง ETSC เป็นผู้ให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยทางถนนแก่อียู โดยแผนงานหลักสำหรับปี 2019-2024[4] เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่ต้องการจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้ 50% ภายในปี 2030 และยังเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้บาดเจ็บสาหัส (serious injuries) ซึ่งหวังจะลดให้ได้ 50% เช่นกัน โดยจะเน้นไปที่ความปลอดภัยของคนปั่นจักรยาน คนเดินเท้า และมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่เปราะบาง (vulnerable) รวมถึงประเด็นยานยนต์อัตโนมัติ ความสะดวกในการเดินทางแบบไร้รอยต่อ และเรื่องพื้นฐานอย่างการบังคับใช้กฎหมาย การขับขี่ภายใต้อิทธิพลของสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท การอบรมและฝึกปฏิบัติซึ่งจะมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่จะได้ใบขับขี่ในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชน 

ส่วนที่เคยมีการยกตัวอย่างนโยบายของสวีเดนในเมืองไทย[5]ขนส่งสาธารณะก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายๆ องค์ประกอบเท่านั้น ที่เป็นต้นกำเนิดของ Vision Zero โครงการของสวีเดนที่เริ่มต้นในปี 1997 โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2050 จะไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจากเริ่มต้นจนถึงปี 2016 จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 50% ความสำเร็จที่สวีเดนจุดประกายให้หลายชาติ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา โดมินิกัน ศึกษาโครงการนี้ และนำไปปรับใช้กับประเทศตัวเองแล้วนั้น ขนส่งสาธารณะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลาย ๆ องค์ประกอบ และการบังคับใช้กฎหมายก็ยังสำคัญ ดังที่สวีเดนเป็นประเทศที่มีกล้องตรวจจับความเร็วต่อพื้นที่ถนนมากที่สุดในโลก ซึ่งในรายงานปี 2018 ขององค์การอนามัยโลก[6] ระบุว่าสวีเดนได้คะแนนการบังคับใช้กฎหมายความเร็วทางถนนถึง 8 จาก 10 คะแนน (ไทยได้ 5 คะแนน)

ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่ขนส่งสาธารณะโดยรวมไม่ค่อยดีอย่างไทยและสหรัฐฯ[7] ก็มีผลข้างเคียงทำให้เสียชีวิตมากจริง โดยสหรัฐฯเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดในโลก[8][6] ส่วนไทยมีอัตราเสียชีวิตสูงที่สุดในเอเชีย![9]


อ้างอิง


เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เชื่อหรือไม่? 'ความเหลื่อมล้ำ' ระหว่าง เมือง-ชนบท เป็นเหตุแห่งความตายทางถนน



โดย ฐานันดร ชมภูศรี