เหลื่อมล้ำไปอีก? เมื่อ ‘อากาศร้อน’ ลดความสามารถของสมอง


คนนั่งรถเมล์ร้อน (รวมถึงผู้ค้าหาบเร่แผงลอย) ได้รับผลเสียจาก อากาศร้อนหรือไม่?



ที่มาภาพ: 44178 BUS by Noppasit


ไม่มีการศึกษาผลของอากาศร้อนว่ามีผลต่อสมองของผู้นั่งรถเมล์ร้อนและขายของหาบเร่แผงลอยโดยตรง แต่เราอาจเทียบเคียงกับงานวิจัยต่อไปนี้ได้ (?)

การวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตลอสแอนเจลิส (UCLA) และมหาวิทยาลัยมลรัฐจอร์เจีย ชี้ให้เห็นถึงผลการวิจัยที่น่ากังวล โดยคณะผู้วิจัยใช้ข้อมูลจากผลการสอบของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอเมริกัน 10 ล้านคน ในช่วงเวลา 13 ปี จากปี 2001-2014 ในหลายมลรัฐทั่วอเมริกาที่สภาพอากาศแตกต่างกัน

งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (National Bureau of Economic Research) ระบุว่า นักเรียน 10 ล้านคนดังกล่าวได้คะแนนน้อยลงในปีที่มีอุณหภูมิสูงกว่า และจะทำคะแนนได้ดีกว่าในปีที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ซึ่งผลที่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแม้อยู่ในสภาพอากาศที่แตกต่างกันในสหรัฐฯ

แต่ก็พบด้วยว่า โรงเรียนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกๆ 0.55 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลการเรียนลดลง 1%

โดยอากาศที่เย็นขึ้นไม่ส่งผลเสียต่อการเรียน แต่อากาศร้อนในสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนนั้น แบ่งเป็น 3 ระดับ เริ่มต้นที่เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 21 องศาเซลเซียส และจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้มากขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส และส่งผลเสียมากขึ้นไปอีกหากอุณหภูมิสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส

Joshua Goodman อาจารย์ด้านนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หัวหน้าทีมวิจัยชิ้นนี้ ชี้ว่า นักเรียนที่ได้รับผลกระทบ จะขาดสมาธิ หงุดหงิด และยากต่อการโฟกัสกับการเรียน ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้ได้ทำให้เกิดคำถามที่ใหญ่ขึ้น เรื่องความเชื่อมโยงของภาวะโลกร้อนจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักเรียนที่ฐานะยากจนซึ่งส่วนใหญ่ที่บ้านไม่มีเครื่องปรับอากาศ และส่วนใหญ่เข้าโรงเรียนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ [1] [2]
  
มีผลกระทบเฉพาะวัยนักเรียนมัธยมต้นหรือเปล่า? มีการวิจัยเรื่องอากาศร้อนมีผลกระทบต่อการตัดสินใจโดยไม่จำกัดช่วงวัย โดยมหาวิทยาลัยฮุสตัน (University of Houston) ซึ่งได้รับการรายงานในเว็บไซต์ Scientific American พบว่าอากาศร้อนมีผลให้ผู้คนตัดสินใจได้แย่ลง

และยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ห้องสมุดการแพทย์สหรัฐฯ พบว่าอากาศร้อนจะส่งผลเสียมากที่สุดในการตัดสินใจเรื่องที่ซับซ้อน รวมถึงการต้องตัดสินใจจำนวนมากครั้ง หรือการประมวลข้อมูลหลายอย่างในสมองในเวลาเดียวกัน [3]   

การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มอเตอร์ไซค์ที่ประเทศไทย ถือว่าเลวร้ายที่สุดในโลก! [รายได้น้อย / สู้กับรถติด > เจออากาศร้อน (?)]

ต้องขอเกริ่นถึงภาพรวมก่อนว่า จากรายงานของ WHO เรื่องความปลอดภัยทางถนน ปี 2018 ที่ไทยไม่ปลอดภัยอันดับ 9 ของโลก แม้จะดีขึ้นจากอันดับ 2 ของโลกจากรายงานเมื่อสามปีก่อน แต่การเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คนในไทยอยู่ที่ 32.7 ซึ่งในอาเซียนนับว่านำห่างเวียดนามซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 26.7 โดยในรายงานเมื่อสามปีก่อนที่คนไทยตายมากอันดับสองของโลกที่อัตรา 36.2 รองจากลิเบีย ทว่ารายงานล่าสุดลิเบียมีอัตราลดลงมาอยู่ที่ 26.1 [4]

และตามอัตราการตายดังกล่าว ไทยยังคงมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดในเอเชีย! โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มอเตอร์ไซค์ที่ประเทศไทย ถือว่าเลวร้ายที่สุดในโลก!

โดยมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด และมีสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่า 70% จากรถทุกประเภท กลุ่มเสี่ยงหลักคือคนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต [5]


อ้างอิง


โดย ฐานันดร ชมภูศรี